แต่ไหนแต่ไรเมื่อพูดถึงความสวยความงามแบรนด์จากฟากฝั่งยุโรปมักจะติดโผเป็นท็อปลิสต์อยู่เสมอ ถึงขนาดเคยมีการศึกษาระดับโลกพบว่า ผู้บริโภคจะรู้สึกมั่นใจในคุณภาพของแบรนด์สกินแคร์และเมกอัพที่มีชื่อเป็นภาษาฝรั่งเศสมากกว่า แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยน การพัฒนาผลิตภัณฑ์เริ่มแผ่ขยายวงกว้าง การมาถึงของอินเทอร์เน็ตอันถือเป็นคลังแห่งข้อมูลทุกรูปแบบ และโซเชียลเน็ตเวิร์กที่ภาพลักษณ์ถือเป็นเรื่องสำคัญ บวกกับกระแสเอเชียนิยมที่กินเวลามากว่า 5 ปี ทำให้แนวคิดเรื่องความงามของผู้คนทั่วโลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างน่าแปลกใจ รวมถึงของบ้านเราเองด้วยเช่นกัน อาจเป็นเพราะด้วยเรื่องเศรษฐกิจผสมปนเปมากับความนิยมและความเข้าใจในการทำแบรนด์ที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น ‘เครื่องสำอางแบรนด์ไทย’ กลายเป็นหนึ่งในของฝากชิ้นสำคัญของชาวต่างชาติรวมทั้งผู้บริโภคชาวไทยเองก็เริ่มเปิดใจให้กับแบรนด์ไทยที่มีมากขึ้นทุกวัน
ประเด็นแรกๆที่ต้องพูดกันแบบตรงไปตรงมาก็คือปัจจัยด้านราคา เช่นเดียวกับอาหารหรือผลิตภัณฑ์ใดๆก็ตามที่ต้องอาศัยวัตถุดิบ ส่วนผสม และสารสกัดจากผลผลิตในพื้นที่นั้นจะทำให้ราคาต้นทุนต่ำลง กระบวนการขนส่งและค่าแรงที่เบาลง การจดทะเบียนและเอกสารทางกฎหมายที่ไม่ต้องอาศัยคนกลางในการแปลและส่งต่อหลายทอด ย่อมให้ผลลัพธ์เป็นค่าใช้จ่ายที่ดูสมเหตุสมผลมากยิ่งขึ้นสำหรับผู้บริโภค นั่นคือแรงจูงใจข้อที่ 1 เป็นข้อเท็จจริงที่ปรากฏมานานแล้ว แต่กลับไม่ได้ช่วยให้แบรนด์ไทยเป็นที่ยอมรับอย่างแพร่หลายเฉกเช่นในทุกวันนี้ นั่นเพราะแบรนด์ความงามที่สร้างแรงจูงใจได้ดีจะต้องมีมากกว่าราคาที่เบาสบายกระเป๋า
นอกจากเรื่องของต้นทุนที่ลดลง ยังรวมถึงการนำเสนอแนวคิดทำนองที่ว่า ‘ไทยทำไทยใช้/ไทยเข้าใจไทย’ คือผู้บริโภคเริ่มมองเห็นว่าการใช้ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่ทำขึ้นโดยคนไทยเพื่อคนไทยย่อมเหมาะกับตัวเรามากกว่า ยกตัวอย่างง่ายๆเช่นสีรองพื้น ที่แต่ก่อนดูจะเป็นปัญหาใหญ่สำหรับชาวเอเชียและชาวไทย เพราะแบรนด์ฝรั่งต่างเต็มไปด้วยรองพื้นสีสว่างโทนชมพู (ในขณะที่คนไทยกว่า 90% ต้องใช้โทนเหลือง) อีกทั้งเรื่องของสภาพผิวที่หลายๆแบรนด์ต่างชาติได้รังสรรค์ผลิตภัณฑ์ขึ้นมาเพื่อสภาพผิวที่ไม่ต้องเผชิญกับสภาพอากาศร้อนชื้นและความรุนแรงของแสงแดดมากนัก ซึ่งก็อาจจะเหมาะกับผู้บริโภคในหลายๆพื้นที่ แต่ถ้าพูดถึงประเทศไทย แน่นอนว่าเราต้องการอะไรที่เหมาะสมกับเรา ทนทานต่ออากาศร้อนชื้น พร้อมมอบการปกป้องจากรังสียูวีอันหฤโหดของบ้านเราได้ ดูจากสัดส่วนประชากรผิวผสมที่มีอยู่กว่า 70% หลายๆคนก็ยังมองหาสกินแคร์ที่เหมาะกับผิวไม่สำเร็จ
ยิ่งไปกว่านั้นสิ่งที่ต้องยอมรับว่าช่วย ‘ขายของ’ ได้ดีในยุคนี้คือการทำภาพแคมเปญ อะไรก็ตามที่ขึ้นกล้องหรือถ่ายภาพได้สวยย่อมมีความน่าสนใจมากกว่าในสายตาของผู้บริโภค แบรนด์ไทยยุคใหม่เริ่มมองเห็นความสำคัญของภาพลักษณ์และปัดฝุ่นการนำเสนอใหม่ พอก่อนสำหรับภาพลักษณ์แบรนด์ไทยแบบห่มสไบโจงกระเบน พรมน้ำดอกมะลิกลิ่นหอมจรุงใจต่างๆ
มาสู่ยุคที่น้องๆเน็ตไอดอล บิวตี้บล็อกเกอร์ และบรรดา KOL (Key Opinion Leader) ผู้มีสไตล์ทั้งหลายทรงอิทธิพลต่อตัวแบรนด์และกระตุ้นการซื้อได้ดีกว่าครั้งใด อย่างที่เราได้ยินและได้เห็นแบรนด์ 4U2 กับปรากฏการณ์ดึงเอาบิวตี้บล็อกเกอร์นับสิบมาร่วมรังสรรค์เฉดสีลิปสติกในราคาจับต้องได้ จนได้รับชื่อเล่นที่ผู้บริโภคเรียกกันติดปากว่า ‘ลิปบิวตี้บล็อกเกอร์’ ซึ่งแน่นอนว่าเรียกความสนใจจากผู้คนจำนวนมหาศาลให้มารวมตัวกันอยู่หน้าเชลฟ์ในร้าน EveandBoy ได้อย่างแน่นขนัด
Srichand ที่เคยขายความ ‘ต้นตำรับ’ ว่าเป็นแบบแผนความงามให้กับสาวไทยมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1948 ก็ยังต้องทำการปรับภาพลักษณ์และปรับโลโก้โดยเอาปีต้นกำเนิดออกไปเปลี่ยนใหม่เป็นแพ็กเกจที่ดูเรียบหรูยิ่งขึ้นมีการร่วมมือกับแบรนด์อื่นๆเพื่อยกระดับสไตล์ให้ดูทันสมัย รวมถึงการบอกเล่าผลิตภัณฑ์ผ่านทางไลฟ์สไตล์ยุคใหม่ เช่น Everyday Matte Lipstick ที่ตั้งชื่อสีลิปสติกตามเวลาในแต่ละวันเพื่อบอกเล่าว่าสีไหนเหมาะกับลุคและกิจกรรมใด อย่าง 6:00 Wake up Call และ 20:00 Dinner Date
หรือแม้กระทั่งแบรนด์ไทยยักษ์ใหญ่อย่าง Mistine แบรนด์ที่ผู้คนในยุค ’80s-’90s ได้ยินสโลแกนมาเนิ่นนานเป็นเสียงกดกริ่งหน้าประตูพร้อมเสียงหวานๆ “มิสทีนมาแล้วค่ะ” ที่ยกเครื่องปรับโฉมด้วยการกระหน่ำการตลาดและพีอาร์ ภาพลักษณ์แบรนด์ดูสวยเปรี้ยวขึ้นมาทันใดเมื่อภาพของเหล่าดาราระดับเอลิสต์ 7-8 ชีวิตเรียงรายกันอยู่ที่ผนังสถานีรถไฟฟ้ากลางเมือง ผลิตภัณฑ์อัพเกรดให้มีกลิ่นอายของเมกอัพอาร์ทิสต์อย่างอายไลเนอร์สีดำสนิทอันเลื่องลือว่าสวย คมเข้ม ชัด และติดทนนาน ทนต่อสภาพอากาศบ้านเราเป็นอย่างยิ่ง ปีหลังๆเริ่มจับทางรุกตลาดต่างชาติเมื่อค้นพบว่าลูกค้าแผ่นดินใหญ่แห่กันมาซื้อผลิตภัณฑ์ไปใช้อย่างสนุกสนาน และยังเคยสร้างปรากฏการณ์เปิดสโตร์ที่กรุงปารีสมาแล้ว
Cosluxe แบรนด์เมกอัพที่อัดฉีดด้านผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับดวงตาเป็นหลัก อย่างมาสคาร่า อายไลเนอร์ ที่เขียนคิ้ว ที่เมื่อเปิดกระเป๋าช่างแต่งหน้ามาเป็นได้เจอไอเท็มเหล่านี้ของแบรนด์แทบทุกราย โดยเฉพาะมาสค่าราที่ยกขนตาสาวเอเชียให้งอนงามได้ยาวนานตลอดทั้งวันนั้นเป็นอะไรที่หาได้ยากยิ่ง แม้ขนาดเคาน์เตอร์แบรนด์แพงๆจากต่างประเทศหลายแบรนด์ก็ยังทำได้ไม่สาแก่ใจสาวหมวยอย่างเรานัก อายไลเนอร์ที่เมื่ออยู่ในสภาพอากาศหนาวๆแห้งๆ ไม่เคยได้ผ่านการทดสอบอย่างโชกโชนจากหน้าร้อน 40 องศา สลับกับหน้าฝนที่ฝนโปรยปรายราวกับพายุเข้าทุกวี่วันอย่างบ้านเรา จึงไม่สามารถตอบโจทย์สาวไทยเราได้อย่างเต็มร้อย
รวมถึง Passion Ville ที่นับว่าเป็นหนึ่งในแบรนด์ไทยแบรนด์แรกๆที่เปิดตัวอย่างอลังการด้วยภาพโพสต์ทางโซเชียลเน็ตเวิร์กกับหลากหลายสีสันลิปสติกที่สวอตช์มาอย่างสวยงามละลานตาซึ่งแน่นอนว่าทำให้ชื่อเสียงของแบรนด์เป็นที่พูดถึงพร้อมยอดขายถล่มทลายอย่างรวดเร็วหลังจากนั้นคลอดไอเท็มใหม่ๆตัวไหนออกมาเจอการสไตลิ่งภาพสวยๆเพิ่มเข้าไปก็เป็นอันขายได้ขายดีจนกลายเป็นสูตรสำเร็จที่ทำให้แบรนด์ไทยรุ่นหลังๆเดินตามกันอย่างไม่มีแตกแถวฯลฯ
นอกจากเมกอัพสีสันที่สามารถถ่ายทอดเรื่องราวต่างๆได้อย่างชัดเจนแล้ว สกินแคร์และแฮร์แคร์ก็เป็นอีกหนึ่งกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่มีการแปลงโฉมลดทอนเอาใบขมิ้น ใบมะกรูดออกไปแล้วแทนที่ด้วยภาพลักษณ์ผลิตภัณฑ์และภาพถ่ายในโซเชียลมีเดียให้แลดูสวยงามทันสมัยแบบมินิมัลมากขึ้น เพราะความเรียบเก๋คือสิ่งที่ขายได้สำหรับคนในยุคนี้ ไม่ว่าจะเป็นแบรนด์ผลิตภัณฑ์สำหรับเส้นผมและหนังศีรษะอย่าง Kaff & Co. ที่มีภาพลักษณ์ดูเป็นธรรมชาติและเรียบง่าย แม้จะใช้สมุนไพรดั้งเดิมของไทยอย่างมะกรูดและขิง แต่ก็ใช่จะต้องมีรูปลักษณ์ไทยแผนโบราณเสมอไป
เช่นเดียวกับ Minor Skin แบรนด์สกินแคร์ที่มี Silver Vine Spot Eraser Translucent Serum เป็นหมัดเด็ด โดยเลือกใช้แต่ส่วนผสมที่มีคุณภาพ แม้ราคาจะสูงเมื่อเทียบกับแบรนด์ไทย แต่สามารถบอกเล่าเรื่องของสรรพคุณได้อย่างน่าสนใจ เช่น เรื่อง brightening ที่ดูจะเป็นความกังวลอันดับต้นๆของชาวเอเชียทางแบรนด์ไม่เพียงแต่ใช้เรื่องการปรับผิวให้แลดูกระจ่างใสเป็นตัวบอกเล่ากลับให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าสีผิวที่สว่างขึ้นใช่จะทำให้ผิวสวยขึ้นหากแต่ผิวที่สุขภาพดีขึ้นจากภายในต่างหากที่จะช่วยเพิ่มวอลูมให้ผิวดูอิ่มน้ำฉ่ำวาวซึ่งจะส่งเสริมเรื่องความกระจ่างใสได้ดียิ่งกว่าเป็นต้นยังไม่นับรวมถึงแบรนด์ที่เหล่าดาราและคนดังพากันรังสรรค์กันขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์ความงามของชาวไทยเรากันอีกไม่น้อย
ซึ่งถือเป็นการสร้างสีสันให้แวดวงความงามบ้านเราคึกคัก เพราะอย่างไรเสียอุตสาหกรรมความงามยังคงมีพื้นที่ให้เติบโตได้อีกมาก แม้จะมีการแข่งขันที่สูงมากอยู่แล้วก็ตาม แต่ก็อย่างที่ Oriental Princess แบรนด์ไทยอีกแบรนด์ได้กล่าวไว้ว่า “ผู้หญิง...อย่าหยุดสวย” ตราบใดที่ความสวยยังคงมีบทบาทต่อคนไทย ตราบนั้นประโยคนี้ก็ยังคงขลังและทรงพลังไม่เสื่อมคลาย ถ้าจะต้องจ่ายเงินเพื่อผลิตภัณฑ์ความสวยใดๆ (ที่หยุดกันไม่ได้) ก็เลือกแบบที่ทั้งคุ้มราคาและเหมาะกับเราดีกว่า...แบรนด์ไทยซึ่งราคาสบายกระเป๋าและเข้าใจผู้บริโภคอย่างเราๆจึงได้มีส่วนแบ่งในท้องตลาดสูงที่ขึ้น และยึดครองพื้นที่บนโต๊ะเครื่องแป้งได้มากขึ้นเช่นกัน!
Pañpuri อีกหนึ่งแบรนด์สัญชาติไทยที่สร้างชื่อในฐานะแบรนด์ความงามที่เน้นความสวยแบบองค์รวม ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 2003 จากความสนใจและชื่นชอบการดูแลสุขภาพของชาวตะวันออก เน้นความสมดุลจากภายในสู่ภายนอก จึงกลายมาเป็นแรงบันดาลใจและจุดเริ่มต้นของแบรนด์ เมื่อคุณปุ๋ย-วรวิทย์ ศิริพากย์ เริ่มเห็นช่องว่างทางการตลาดในอุตสาหกรรมสุขภาพและความงามในประเทศไทย ที่มีผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากธรรมชาติและออร์แกนิกในตลาดน้อย และต้องการให้มีผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพสู้กับแบรนด์ต่างประเทศได้ จึงเกิดเป็นความตั้งใจที่จะนำเสนอ Pañpuri ให้เป็นคลีนบิวตี้ สกินแคร์ และเวลเนส ไลฟ์สไตล์แบรนด์ที่เปี่ยมประสิทธิภาพและปลอดภัยต่อทั้งผู้ใช้และสิ่งแวดล้อม โดยทุกผลิตภัณฑ์และบริการจาก Pañpuri นั้นต้องผ่านการคัดสรรวัตถุดิบบริสุทธิ์จากธรรมชาติและออร์แกนิก ปราศจากสารที่อาจก่อให้เกิดการระคายเคืองกว่า 2,300 รายการ ภายใต้มาตรฐานความปลอดภัย ZeroList™ ลิขสิทธิ์เฉพาะจากแบรนด์
ปุ๋ย-วรวิทย์ ศิริพากย์
ELLE: คิดว่าศักยภาพของแบรนด์ความงามไทยคืออะไร
วรวิทย์: สำหรับประเทศไทยผมคิดว่าอุตสาหกรรมความงามยังสามารถเติบโตไปได้อีกไกล หากมีการวางแผนอย่างเป็นระบบและเข้าใจจุดเด่นที่แตกต่างของประเทศไทย โดยเน้นการดูแลสุขภาพและความงามแบบองค์รวมเป็นแกนหลักสำคัญ เราจึงมีชื่อเสียงด้านเวลเนส และได้รับการยอมรับในตลาดโลก ผมมองเห็นศักยภาพของประเทศมาตั้งแต่เริ่มต้น จึงเป็นแรงผลักดันให้สร้างแบรนด์ Pañpuri ไปสู่ระดับนานาชาติ เราสามารถสร้าง T-Beauty มาเป็นตัวเลือกทางด้านความงามจากเอเชียแบบ J-Beauty จากญี่ปุ่น หรือ K-Beauty จากเกาหลีได้
ELLE: คิดว่าแบรนด์ความงามของไทยสามารถขึ้นเป็นแบรนด์อันดับต้นๆของโลกได้หรือไม่
วรวิทย์: เป็นไปได้ครับ ซึ่งประกอบไปด้วยหลายองค์ประกอบ แบรนด์ต้องสามารถนำเทรนด์ได้ และต้องทำความเข้าใจความต้องการในตลาดโลก เพราะสำหรับผมคิดว่าประเทศไทยมีศักยภาพในการแข่งขันทั้งทางด้านคุณภาพของผลิตภัณฑ์ มีส่วนประกอบ วัตถุดิบที่มีค่า และมีผลลัพธ์ที่ดี อีกทั้งเรื่องราคาและการทำการตลาดก็สำคัญ หากมีเป้าหมายที่ชัดเจนเพื่อพัฒนาให้แบรนด์ความงามของไทยแข็งแรง เราจะได้รับการสนับสนุนจากผู้บริโภคแน่นอนครับ
ELLE: ส่วนผสมของผลิตภัณฑ์ความงามต่างๆเรามีประสิทธิภาพเทียบเท่าเคาน์เตอร์แบรนด์หรือไม่
วรวิทย์: เราโชคดีที่สามารถคัดสรร จัดหาส่วนผสมที่ดีที่สุดจากแหล่งที่มาจากทั่วโลกได้โดยตรง ซึ่งเป็นส่วนผสมเช่นเดียวกันกับที่เคาน์เตอร์แบรนด์ระดับโลกเลือกใช้ โดยทาง Pañpuri ได้ให้ความสำคัญกับการใช้ส่วนผสมในอัตราส่วนที่เข้มข้น เพื่อให้ได้รับผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพและได้ผลมากที่สุด มีการทดสอบประสิทธิภาพและการทดสอบความระคายเคือง dermatological test โดยสถาบันที่มีชื่อเสียงระดับโลกเช่นเดียวกับเคาน์เตอร์แบรนด์เพื่อตอกย้ำถึงความมีประสิทธิภาพให้ผู้บริโภคได้รับความพึงพอใจสูงสุด
อีกหนึ่งแบรนด์ความงามของไทยที่สร้างปรากฏการณ์ผลิตภัณฑ์กันแดดสุดฮิตในเวลาอันรวดเร็วกับ Mizumi ที่เริ่มต้นจากการที่คุณหนุย-วริษฐา สืบพันธ์วงษ์ กรรมการผู้จัดการมีสภาพผิวแพ้ง่ายแล้วมองหาครีมกันแดดที่ตอบโจทย์กับสภาพผิวของตัวเองซึ่งไม่ค่อยมีในท้องตลาดสมัยนั้น
หนุย-วริษฐา สืบพันธ์วงษ์
จึงเริ่มต้นลงมือตั้งแต่คิดคอนเซ็ปต์ครีมกันแดดในอุดมคติของสาวแพ้ง่ายขึ้นมา และมีโอกาสได้พูดคุยกับคนรู้จัก กับเพื่อนๆที่มีผิวแพ้ง่ายเหมือนกัน ปรากฏว่าหลายคนชอบในไอเดีย จึงทดลองทำเป็นธุรกิจแบบจริงจัง โดยเริ่มจากลอตเล็กๆให้คนได้ลองไปเรื่อยๆพร้อมรับฟีดแบ็กมาปรับปรุงจนมั่นใจว่าสูตรดีแล้ว ทำให้ใครๆที่ได้ลองก็ชื่นชอบและมีความต้องการในตลาดมากขึ้น เรียกว่าเป็นธุรกิจที่เริ่มจากเล็กๆ แล้วอาศัยคำแนะนำปากต่อปาก จนทำให้วันนี้ถ้าสาวๆจะต้องหยิบครีมกันแดดขึ้นมาใช้ทุกเช้าก็ต้องเป็น Mizumi
ELLE: คิดว่าศักยภาพของแบรนด์ความงามไทยคืออะไร
วริษฐา: ศักยภาพของแบรนด์ความงามไทยมาจากหลายแง่มุม ต้องดูเป็นองค์รวม ตั้งแต่ความต้องการของสินค้าความงามและศักยภาพของ value chain (ตั้งแต่โรงงานผลิต ช่องทางการขาย และการทำการตลาด) ในการป้อนสินค้าตามความต้องการเหล่านี้ คือช่วง 5-10 ปีที่ผ่านมาต้องบอกว่าตลาดความงามเติบโตต่อเนื่อง และผู้หญิงไทยให้ความสนใจในการดูแลตัวเองมากขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก จึงเป็นโอกาสอันดีในอุตสาหกรรมนี้ โรงงานผลิตในไทยก็มีศักยภาพ และมีหลายขนาดให้เราเลือกทำงานด้วย ต้นทุนสามารถแข่งขันได้ ปริมาณการผลิตขั้นต่ำก็อำนวยให้ผู้ประกอบการรายเล็กๆสามารถเริ่มต้นแบรนด์ของตัวเอง ช่องทางการขายเครื่องสำอางเมืองไทยก็มีหลากหลายรองรับ ตั้งแต่ model ออนไลน์ ตัวแทนจำหน่าย ไปจนถึงหน้าร้านจริงจัง ประกอบกับผู้ประกอบการรุ่นใหม่ มีความสามารถในการทำแบรนด์ที่โดนใจคนรุ่นใหม่ด้วยกันเอง มีความคิดสร้างสรรค์ในการหา brand identity และรู้วิธีทำการตลาดแบบเข้าถึงลูกค้าจริงๆ เลยทำให้แบรนด์ไทยใหม่ๆหลายแบรนด์ได้ใจลูกค้า ลูกค้ากล้าที่จะลองและแนะนำต่อ สุดท้ายก็แจ้งเกิดท่ามกลางแบรนด์อินเตอร์ที่อยู่มานาน และบางทีดังไปไกลยังต่างประเทศด้วย
ELLE: ตอนเริ่มต้นธุรกิจมีทิศทางและมุมมองในการบริหารและการตลาดอย่างไร
วริษฐา: ตอนเริ่มเราไม่ได้คิดการใหญ่อะไรมากมาย แค่คิดว่าทำอย่างไรให้คนชอบที่สินค้าเราจริงๆ แนะนำต่อเพราะรู้สึกว่าผลิตภัณฑ์ดี ไม่ใช่เพราะรู้จักเราหรือมี incentive อะไรซ่อนอยู่ เรามองว่าถ้าสินค้าดีในระยะยาวก็จะมีคนมาซื้อซ้ำ ถึงแม้การตลาดจะไม่มากก็ตาม ดังนั้นตอนเริ่มธุรกิจเรามองว่าหัวใจคือผลิตภัณฑ์ ตามมาด้วยการตลาดแบบจริงใจและเข้าถึงเป้าหมาย หมายถึงเราพยายามไม่โอ้อวดสรรพคุณอะไรที่เกินจริงเพียงเพื่อหวังยอดขาย แต่เราเน้นการสร้างพื้นฐานความเข้าใจกับลูกค้าให้รู้ว่าครีมกันแดดเราทำอะไรได้ ทำอะไรไม่ได้ เพื่อให้เข้าใจก่อนจะซื้อ และเราเป็นแบรนด์ที่พยายามพูดคุยกับลูกค้าเอง เพื่อฟังฟีดแบ็ก และให้ลูกค้าสบายใจว่าคำถามที่เขามีในใจเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์เราพยายามตอบให้ได้มากที่สุด ซึ่งจริงๆทุกวันนี้แบรนด์ก็ยังยึดหลักการนี้ในการทำการตลาดอยู่ค่ะ
ELLE: คิดว่าแบรนด์ความงามของไทยโดดเด่นอย่างไรในตลาดโลก
วริษฐา: ถ้าไม่มองว่าแบรนด์ไทยมีเอกลักษณ์ความเป็นไทยที่เป็นจุดขายให้ต่างประเทศอยู่แล้ว แบรนด์ไทยรุ่นใหม่ๆที่ไม่ได้พรีเซนต์ความเป็นไทยจ๋าออกมา มีข้อดีหลักๆที่ทำให้เราแข่งขันได้เลยคือ คุณภาพดีในราคาที่จับต้องได้ จึงเป็นที่ต้องการในตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศที่ชื่นชอบเมืองไทยอยู่แล้ว และได้รับอิทธิพลจากละครไทย หนังไทย ดาราไทย เช่น จีน เวียดนาม ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ผู้จัดจำหน่ายในต่างประเทศจึงมองว่าสินค้าบิวตี้ไทยเป็นที่ยอมรับ แถมซื้อง่ายขายเร็ว จึงเป็นโอกาสที่ดีของแบรนด์ความงามไทยที่จะไปเจาะตลาดต่างประเทศ
Beauty Story October Issue
Model: Pannapat Sangounsub
Make-up: Rattanachot Pokum
Hair: Manaswee Kitpisut
Photographer: Kritsada Hasapark
Stylist: Pitipong Pongdam
Beauty Editor: Mallika Boonyuen